จุดเริ่มต้น ที่มา และการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ ของ คณะนิติราษฎร์

ภายหลังจากการรวมตัวของกลุ่มคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 5 คน[2] เพื่อแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภายใต้การบริหารของ คมช. และรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นระยะๆ จึงได้ออกแถลงการณ์ที่ใช้ชื่อว่า “แถลงการณ์คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 1”[3] ซึ่งแสดงให้เห็นจุดยืนทางการเมืองและทางวิชาการที่สำคัญ คือ

ประการแรก คัดค้านและประณามการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะถือเป็นการกระทำที่ไม่เคารพและเป็นการย่ำยีอำนาจการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกผู้บริหารประเทศตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ประการที่สอง คัดค้านและประณามการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เพราะถือว่าเป็นการทำลายสัญญาประชาคมของประชาชนโดยวิถีทางที่มิอาจรับได้อย่างยิงตามกระบวนการประชาธิปไตย

ประการที่สาม คัดค้านและประณามการทำลายเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน

ประการที่สี่ คัดค้านและประณามการจำกัดสิทธิในร่างกายของประชาชน ที่มีการจับกุมผู้ที่ประท้วงการกระทำรัฐประหารไปคุมขัง

ประการที่ห้า เรียกร้องให้การบริหารประเทศกลับไปสู่ครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเร็วที่สุด

แถลงการณ์ดังกล่าว มีผู้ลงนามท้ายแถลงการณ์ดังกล่าว ประกอบไปด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ปิยบุตร แสงกนกกุล และ ธีระ สุธีวรางกูร จนกระทั่งวันที่ 19 กันยายน 2553 (ภายหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาแล้ว 4 ปี) กลุ่มคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวเว็บไซต์ “www.enlightened-jurists.com"[4] และเสวนาวิชาการในหัวข้อ “4 ปี รัฐประหาร 4 เดือนพฤษภาอำมหิต อนาคตทางสังคมไทย” ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เว็บไซต์ดังกล่าวเป็นแหล่งรวบรวมผลงานและบทวิเคราะห์ทางวิชาการ โดยมีการเปิดตัวชื่อกลุ่มในชื่อใหม่ว่า “นิติราษฎร์” ทั้งมีการออก ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 1 (วรเจตน์ ภาคีรัตน์)[5] โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ

“เมื่อสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์คิดการที่จะสร้างชุมชนทางวิชาการเล็กๆ ในทางนิติศาสตร์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางกฎหมายที่ถูกต้อง เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และเพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งนิติรัฐและความยุติธรรมให้เจริญงอกงามในสังคมไทย เรื่องหนึ่งที่พวกเราคิดกันนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่กล่าวมาแล้วก็คือ เว็บไซต์ที่เราจะตั้งขึ้นนั้น ควรจะมีชื่อว่าอะไร มีชื่อที่เราคิดกันหลายชื่อ ในที่สุดเราก็ได้ชื่อที่อยู่หรือที่ตั้งของเว็บไซต์ว่า www.enlightened-jurists.com”

จากข้อมูลในเวปไซต์ของกลุ่มนิติราษฎร์ได้แสดงให้เห็นความหมายของคำว่า "นิติราษฎร์" อันมาจากการผสมของคำว่า “นิติศาสตร์” กับ “ราษฎร” ส่วนชื่อภาษาอังกฤษใช้คำว่า “enlightened-jurists” หมายถึง "(นักกฎหมายผู้)...ปฏิเสธความเชื่อ จารีตอันงมงายอันปรากฏในวงวิชาการนิติศาสตร์ และอยู่บนหนทางของการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และท้าทายสถาบันทั้งหลายทั้งปวงในทางกฎหมายที่ไม่ตั้งอยู่บนรากฐานของเหตุผล ที่สามารถยอมรับได้"มีความหมายโดยรวมว่า นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ด้วยมุ่งหวังให้เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการสถาปนาอุดมการณ์กฎหมาย-การเมือง นิติรัฐ-ประชาธิปไตย เพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และ “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ[5]” โดยนับวันที่ 19 กันยายน 2553 เป็นวันก่อตั้งนิติราษฎร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งต่อมาเว็บไซต์ดังกล่าวถือเป็นจุดรวมตัวและจุดเคลื่อนไหวที่สำคัญของคณะนิติราษฎร์ และเป็นฐานสำคัญในการเผยแพร่แนวคิดและผลงาน ซึ่งเนื้อหาของเว็บไซต์ประกอบไปด้วย ประกาศนิติราษฎร์ บทความ รวบรวมการสัมมนาและบทสัมภาษณ์ บทความจากผู้อ่าน แถลงการณ์ เอกสารทางประวัติศาสตร์ เอกสารประกอบการสอน ประชุมกฎหมาย และไฟล์บันทึกเสียงและภาพ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2559) เว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com ได้ถูกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระงับและจำกัดการเข้าถึงด้วยเหตุผลว่าเว็บไซต์ดังกล่าวมีเนื้อหาและข้อมูลที่ไม่เหมาะสม

ใกล้เคียง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น คณะนิติราษฎร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะนิติราษฎร์ http://www.enlightened-jurists.com/blog/56 http://www.enlightened-jurists.com/blog/61 http://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E... http://www.koratforum.net/politics/1682.html http://www.ccaa112.org/Open-Letter.html http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%81%E0... http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1... http://www.thairath.co.th/content/pol/112425 http://news.voicetv.co.th/thailand/26839.html https://www.thairath.co.th/content/235431